เปิดข้อมูลคาร์บอนต่อหัว 30 ประเทศ ไทยเสี่ยงบนเวทีการค้าโลก ?

02 กรกฎาคม 2568
เปิดข้อมูลคาร์บอนต่อหัว 30 ประเทศ ไทยเสี่ยงบนเวทีการค้าโลก ?

มูลนิธิฮินริช (Hinrich Foundation) ร่วมกับศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก IMD เผยแพร่ “ดัชนีการค้าที่ยั่งยืน” (Sustainable Trade Index: STI) ประจำปี 2567 ซึ่งจัดทำโดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนใน 30 ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก

ดัชนีดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก (Emissions Database for Global Atmospheric Research: EDGAR) โดยแปลงค่าการปล่อยคาร์บอนต่อหัวให้เป็นคะแนนดัชนีระหว่าง 0 ถึง 100 ซึ่งคะแนนสูงหมายถึงการปล่อยคาร์บอนต่อคนในระดับต่ำ (และถือว่าดี) ส่วนคะแนนต่ำสะท้อนการปล่อยในระดับสูง (และถือว่าไม่ดี)

ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการค้า โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งปรับตัวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero)

รายงานระบุว่า การปล่อยคาร์บอนต่อคนในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น แคนาดาและออสเตรเลีย อยู่ในระดับสูงมาก ทำให้ได้คะแนนในดัชนีนี้ต่ำ ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำ เช่น ปาปัวนิวกินีและบังกลาเทศ มีการปล่อยคาร์บอนต่อหัวต่ำ จึงได้คะแนนสูง

คาร์บอนกำลังกลายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อโครงสร้างต้นทุนสินค้าในเวทีการค้าโลก ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) กำลังพัฒนา “กลไกปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน” (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะจัดเก็บภาษีนำเข้าตามปริมาณคาร์บอนของสินค้า เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า

เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย European Green Deal และมาตรการ “Fit for 55” ของ EU มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และเพิ่มความชอบธรรมในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป สินค้าที่อยู่ในเฟสแรกของมาตรการประกอบด้วยเหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน และไฟฟ้า 

ปัจจุบันมาตรการ CBAM อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงรายงานข้อมูลการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก 3 เดือน โดยยังไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าคาร์บอน ส่วนระยะบังคับใช้จริง (Definitive Period) เดิมกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2569 มีแนวโน้มจะเลื่อนออกไปเป็น 1 มกราคม 2570 ซึ่งจะเริ่มมีการเรียกเก็บเงินค่าคาร์บอน และการรายงานจะเปลี่ยนเป็นการรายงานปีละครั้งภายในวันที่ 31 พฤษภาคม (และมีแนวโน้มเลื่อนเป็นเดือนตุลาคม) สำหรับสินค้าที่มีปริมาณการส่งออกน้อยกว่า 50 ตันต่อปีจะได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้

สำหรับประเทศไทย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 14 จาก 30 ประเทศ มีระดับการปล่อยคาร์บอนต่อหัวอยู่ที่ 4.1 ตันต่อคนต่อปี อยู่ระดับกลางของตาราง และมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม (3.3 ตัน), อินโดนีเซีย (2.5 ตัน), ฟิลิปปินส์ (1.4 ตัน) และเมียนมา (0.7 ตัน)

แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด แต่การอยู่กลางตารางในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโลกการค้า ซึ่งการค้าโลกในอนาคตจะไม่สามารถแยกออกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้อีก และอาจกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นำไปปรับใช้ตาม ทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในการปรับตัว หากยังไม่มีระบบวัดรายงาน ลดคาร์บอนที่เข้มแข็งพอ

สินค้าไทยในอนาคตอาจเจอกำแพงภาษีจากประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียเริ่มลงทุนในระบบคาร์บอนเครดิตและการวัดคาร์บอนอย่างจริงจังแล้ว

 

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.